หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดี

(IMC) Sponsorship Marketing : การสื่อสารตราสินค้าด้วยเครื่องมือการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาด

การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรหรือ หน่วยงานทางธุรกิจที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แนวคิดการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขาย หรือวิธีการสื่อสารการตลาดรูปแบบต่างๆ เช่น การเป็น ผู้สนับสนุนทางการตลาด เป็นหนึ่งในเครื่องมือการสื่อสารการตลาดที่เข้ามาเสริมภาพลักษณ์ของสินค้า และสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายจดจำตราสินค้า และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์การสื่อสารที่กำหนดไว้

ความหมายของผู้สนันบสนุน

การเป็นผู้สนับสนุน (Sponsorship) 
การเป็นผู้สนับสนุน (Sponsorship) หมายถึง ความสัมพันธ์ในทางธุรกิจระหว่างผู้ให้ความช่วยเหลือจากกองทุน แหล่งทรัพยากรหรือบริการ รวมไปถึงความสัมพันธ์ในลักษณะส่วนบุคคล ที่ให้การสนับสนุนแก่กิจกรรมหรือองค์กร โดยนัยแห่งการให้การสนับสนุนจะมีความหวังในผลแห่งการให้บางอย่างตามที่ต้องการและอาจจะมีความเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ในทางพาณิชย์ (Sleight, 1989)

ผู้สนับสนุนทางการตลาด (Sponsorship Marketing) 
การเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาด (Sponsorship Marketing) คือ การลงทุนของบริษัทในลักษณะของการให้ทั้งที่เป็นตัวเงินและหรือไม่เป็นตัวเงิน โดยหวังประโยชน์ทางธุรกิจ อีกทั้งการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาดจะถูกใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเพิ่มยอดขาย การเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพิ่มความจงรักภักดีแก่คนในองค์กร การสร้างภาพพจน์และอิทธิพลให้กับตราสินค้า

การเป็นสนับสนุนเชิงพาณิชย์ (Commercial Sponsorship)
การเป็นผู้สนับสนุนเชิงพาณิชย์ (Commercial Sponsorship) หมายถึง การลงทุนด้วยเงินสดหรือทรัพย์สิ่งของอย่างอื่น ไปเพื่อกิจกรรมหนึ่ง โดยหวังผลทางการค้า ทั้งนี้การเป็นผู้สนับสนุนจะมีความเชื่องโยงสัมพันธ์กันกับกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย (Meenaghan,1991)

ปัจจัยทำให้กิจกรรมการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาดได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมีดังนี้

- ข้อจำกัดด้านจำนวนเงินในการทำการสื่อสารการตลาดด้วยเครื่องมือการโฆษณาต้องใช้เงินจำนวนมาก

- พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่ชอบดูหนังโฆษณาในวิทยุโทรทัศน์ กล่าวคือ เมื่อมีหนังโฆษณาขั้นรายการผู้บริโภคจะไม่ดูหนังโฆษณาโดยจะเปลี่ยนไปดูรายการอื่น ๆแทน

- ช่วยสร้างคุณค่าให้กับตราสินค้า(Brand Equity)

- เป็นเครื่องมือที่สามารถสื่อสารการตลาดและสื่อสารตราสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเจาะจงตามลักษณะประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และรูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย

- ช่วยให้บริษัทได้รับการยอมรับจากหน่วยงานท้องถิ่น และรวมถึงบรรดาผู้ถือหุ้น พนักงานในบริษัท และสังคม

วัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจกรรมการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กรนั้น ๆ ว่ามีวัตถุประสงค์ไปในด้านใด ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

- เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ในชื่อและตราสินค้า

- เพื่อการใช้สื่อได้อย่างเปิดเผย โดยปราศจากข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น กฎหมาย เป็นต้น

- เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ และองค์กร

- เพื่อแสดงออกถึงความมีเมตตา เผื่อแผ่ ที่มีต่อบุคคล กลุ่มคน ชุมชน องค์กร

- เพื่อพัฒนาและดำรงรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ผู้จัดจำหน่าย พนักงานงานและผู้ถือหุ้นของบริษัท

- เพื่อเพิ่มยอดขายและเป็นโอกาสในการเปิดตลาดที่ถูกปิดไปในอดีต

- เพื่อใช้เป็นทางออกสำหรับการทำโฆษณาสินค้าต้องห้าม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ เป็นต้น

- เพื่อส่งเสริมการขาย (อาทิเช่น การเป็นสินค้าตัวอย่างพ่วงติดกับสินค้าหลักอื่น ๆ )

หลักในพิจาณาการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาด (Sponsorship Marketing Issues)

- ต้องสามารถกำหนดและระบุถึงวัตถุประสงค์และขอบเขตของกิจกรรมได้อย่างชัดเจน

- กิจกรรมที่จะทำการสนับสนุนนั้นจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกันกับตำแหน่งของตราสินค้า(Brand Positioning)  ภาพลักษณ์ของตราสินค้า (Brand Image)หรือตำแหน่งขององค์กร (Corporate Positioning)

- ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาดประสบความสำเร็จได้แก่อะไรบ้าง

- มีการจัดสรรงบประเมินในการทำกิจกรรมอย่างเพียงพอ

- ศึกษาถึงลักษณะของผู้สนับสนุนรายอื่นๆ ว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จะทำการสนับสนุนหรือไม่ หรือเข้ามาเกี่ยวข้องในลักษณะใด

- กิจกรรมที่จะดำเนินการจะต้องมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น  น่าสนใจ ในเชิงสร้างสรรค์ไม่ซ้ำหรือเลียนแบบผู้อื่น ๆ

- รูปแบบของกิจกรรมจะต้องเป็นสิ่งที่คู่แข่งขันคาดการณ์ไม่ถึง

- กิจกรรมที่กำหนดนั้นจะต้องสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มหรือรื้อฟื้นคุณค่าเดิมให้กลับมามีคุณค่าได้

- กิจกรรมนั้นมีความสอดคล้องกับรูปแบบของกิจกรรมการสื่อสารการตลาดอื่น ๆ ด้วยหรือไม่

- ต้องสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับสารได้อย่างชัดเจนสำหรับกิจกรรมนั้น ๆ ทั้งรูปแบบและระยะเวลาในการครอบคลุมของสื่อได้อย่างทั่วถึง

การเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาด สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทดังนี้ (คลิกเลือกที่หัวข้อ)

1.การเป็นผู้สนับสนุนด้านกีฬา (Sport Sponsorship Marketing) 
2.การเป็นผู้สนับสนุนด้านวัฒนธรรม (Cultural Sponsorship Marketing) 
3.การเป็นผู้สนับสนุนในโปรแกรมและสื่อกระจายเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์ (Program and Broadcast Sponsorship Marketing) 
4.การเป็นผู้สนับสนุนด้านบันเทิง (Entertainment Sponsorship Marketing) 
5.การเป็นผู้สนับสนุนด้านการศึกษา (Educational Sponsor ship Marketing)
6.การเป็นผู้สนับสนุนด้านงานศิลปะ (Arts Sponsorship Marketing) 
7.การเป็นผู้สนับสนุนด้านอื่นๆ (Others Sponsorship Marketing)