นิทรรศการประเภทต่าง ๆ
นิทรรศการเป็นการแสดงการให้การศึกษาอย่างหนึ่ง ด้วยการแสดงงานให้ชม เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ ทั้งทางด้าน การศึกษา ธุรกิจ สังคม การเมือง แพทย์ และทางด้านอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้นเพื่อให้ผู้สนใจ สถาบัน องค์การ หรือหน่วยงานเลือก จัดนิทรรศการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ จึงควรทราบถึงนิทรรศการประเภทต่าง ๆ
นิทรรศการแบ่งตามลักษณะได้เป็น 3 ประเภท
1.นิทรรศการถาวร (Permanent Exhibition) หมายถึง นิทรรศการที่จัดแสดงเรื่องราวเดิม ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นที่รวบรวมสิ่งแสดง ของที่ใช้จัดอาจจะเป็นของจริง หุ่นจำลอง รูปภาพ ฯลฯ ที่นำมาแสดงนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบ และวิธีการ จัดอยู่ในอาคารหรือสถานที่เดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เปิดโอกาส ให้ผู้ชมเข้ามาชมได้ตลอดเวลา ส่วนใหญ่ที่รู้จักกันดีก็คือ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ
2.นิทรรศการชั่วคราว เป็นการจัดนิทรรศการเป็นครั้งคราวในวาระโอกาสหรือเทศกาลพิเศษเพื่อแสดงความรู้ใหม่ ๆ แผนงานพิเศษ วาระในวันสำคัญของชาติหรือหน่วยงาน หรือเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์กรณีพิเศษ นิทรรศการชั่วคราวอาจจัดแสดง ในสถานที่เดิม เป็นประจำแต่สื่อที่นำมาแสดงชุดนั้น ๆ จัดอยู่ไม่นานนัก อาจเป็นสัปดาห์หรือสองสามเดือนก็เปลี่ยนใหม่ หรือเลิกไป
3.นิทรรศการเคลื่อนที่ หมายถึง นิทรรศการที่จัดขึ้นเป็นชุดสำเร็จ เพื่อแสดงในหลาย ๆ ที่ หมุนเวียนกันไป รูปแบบและสื่อหลักที่นำมาแสดง เป็นแบบเดิม วัตถุประสงค์ในการจัดเป็นแบบเดิมอาจมีสิ่งของหรือการแสดง ประกอบเพิ่มเติม ในบางครั้งนั้น ส่วนสถานที่จัดก็หมุนเวียน เปลี่ยนไปเรื่อย อาจเคลื่อนที่ไปต่างจังหวัดหรือจังหวัดเดียวกันแต่เปลี่ยนชุมชนที่นำไปแสดง เช่น นิทรรศการศิลปะ นิทรรศการตราไปรษณียากร
ประเภทของนิทรรศการแบ่งตามลักษณะของสถานที่จัด มี 3 ประเภท
1.นิทรรศการกลางแจ้ง อาจจะจัดแบบนิทรรศการถาวร นิทรรศการชั่วคราวหรือนิทรรศการเคลื่อนที่ก็ได้ เพียงแต่ สถานที่จัดเป็นการจัดนอกอาคาร และอาจจัดในสนามโดยใช้เต็นท์นิทรรศการประเภทนี้ มีขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับรูปแบบ ลักษณะวิธีจัดด้วย และมีขอบเขตการแสดงกว้างขวาง นิทรรศการกลางแจ้งแบบถาวร
2.นิทรรศการในร่ม คือ นิทรรศการที่จัดในบริเวณอาคาร หรือจัดสร้างอาคารเพื่อแสดงนิทรรศการ โดยเฉพาะนิทรรศการแบบนี้ อาจจัดโดยวิธีแบบถาวร แบบชั่วคราว หรือแบบเคลื่อนที่ก็ได้ นิทรรศการในร่มแบบถาวร เช่น ในอาคารของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานาคร หรือพิพิธภัณฑ์จังหวัด นิทรรศการในร่มแบบชั่วคราว จัดขึ้นโดยมีระยะเวลาแสดงแน่นอน มีจุดมุ่งหมาย แคบลงแต่เด่นชัด
3.นิทรรศการลอยฟ้า เป็นนิทรรศการที่จัดกลางอากาศ เป็นการแสดงสิ่งประดิษฐ์ เพื่อการค้าหรือประกอบการพาณิชย์ เช่น นิทรรศการบอลลูนนานาชาติ การแสดงบอลลูนแบบแปลก ๆ เป็นต้น
ประเภทของนิทรรศการแบ่งตามจุดประสงค์การจัด มี 6 ประเภท คือ
1. นิทรรศการทางการศึกษา
2. นิทรรศการทางการตลาด
3. นิทรรศการทางการเมือง
4. นิทรรศการศิลปะ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
5. นิทรรศการทางการทหาร
6. นิทรรศการเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร
ขั้นตอนและการดำเนินงานจัดนิทรรศการ
ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผน ขั้นวางแผนเป็นขั้นของการคิด ในการที่จะดำเนินการจัดนิทรรศการทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การหาชื่อเรื่อง ของนิทรรศการ การตั้งจุดมุ่งหมาย งบประมาณ สถานที่ ไปจนถึงขั้นสุดท้ายของการจัดนิทรรศการ คือ การสรุปผล ซึ่งใน ขั้นของการวางแผนอาจจะเขียนในรูปของ โครงการจัดนิทรรศการก็ได้
ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมการและออกแบบ เมื่อได้กำหนดโครงการการจัดนิทรรศการเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นการเตรียมการและออกแบบ ในการเตรียมการนั้น ก็เตรียมการตั้งแต่เนื้อหา รวบรวมวัตถุสิ่งของหรือเอกสารต่าง ๆ ที่จะนำออกแสดง จัดแบ่งประเภท หมวดหมู่ และความสำคัญตามลำดับ แล้วจัดทำชื่อทะเบียนประจำวัตถุ คำบรรยายของสิ่งต่าง ๆ
ขั้นที่ 3 ขั้นการจัดทำ เมื่อได้เตรียมการและออกแบบแล้ว ก็ถึงขั้นลงมือจัดทำ ในขั้นนี้ต้องใช้บุคคลฝ่ายต่าง ๆ มากมาย เช่น นักวิชาการ ช่างเทคนิคและช่างศิลป์ มาร่วมมือกันปฏิบัติงาน ตามลักษณะงานที่ตนเองถนัดและชำนาญ โดยเริ่มตั้งแต่ การจัดทำแผง การทำฐานตั้ง การทำตู้กระจก การเขียนตัวอักษร การจัดไฟ การประดับตกแต่งห้อง การจัดวางหรือ ติดตั้ง แขวนวัตถุสิ่งของที่จะจัดแสดง
ขั้นที่ 4 ขั้นการประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์เป็นการโฆษณา เพื่อเชิญชวนหรือชักจูงหรือแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ทราบ ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับงานนิทรรศการ เช่น งานนิทรรศการจัดระหว่างวันที่ เดือน ปีอะไร ภายในงานมีการจัดแสดงอะไรไว้บ้าง รายการใดที่มีความสำคัญ หรือมีคุณค่ามาก เก็บเงินค่าผ่านประตูหรือไม่ เป็นต้น
ขั้นที่ 5 ขั้นการนำเสนอ การนำเสนอคือการให้ประชาชนเข้าชมและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้จัดนิทรรศการจัดทำขึ้น ซึ่งในขั้นของการนำเสนอนี้ มีกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ คือ พิธีเปิดนิทรรศการ การสาธิต การจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ขั้นที่ 6 ขั้นการประเมินผล ในการจัดนิทรรศการนั้น ควรมีการประเมินผลไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่านิทรรศการที่จัดขึ้นนั้น บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ มีข้อดีและข้อควรปรับปรุงอะไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขการจัดนิทรรศการครั้งต่อไป
ขั้นที่ 7 ขั้นการสรุปผล หลังจากจัดนิทรรศการผ่านพ้นไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ควรมีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ที่ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อทำการประเมินผล ผลการจัดนิทรรศการในส่วนที่คณะกรรมการชุดนั้น ๆ รับผิดชอบ ว่าผลการจัด นิทรรศการนั้นเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรค ข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
ข้อดีของการจัดนิทรรศการ
1. เป็นการให้การศึกษาอย่างหนึ่งแก่ผู้ชม โดยไม่ต้องมีครูมาบรรยายให้ฟัง
2. ทำให้การเรียนการสอนมีคุณค่าขึ้น เพราะการจัดนิทรรศการขึ้นเพื่อแสดงเนื้อหาของ บทเรียนต่าง ๆ ที่ครูสอน
3. ยั่วยุให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียน (MOTIVATION) เพราะเป็นการเร้าใจให้เด็กเกิดการอยากเรียน และมีความสนใจเข้าใจ ในเนื้อหาของวิชาที่สอน
4. ทำให้เด็กนักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เพราะเป็นการให้เนื้อหาวิชาที่เรียนทั้งทางตา ทางหู และการสัมผัส
5. สร้างเสริมความรับผิดชอบของกลุ่ม ของแต่ละบุคคล เพราะการให้เด็กได้จัดนิทรรศการเป็นการส่งเสริมให้เด็ก มีโอกาส ทำงานร่วมกับผู้อื่น
ข้อเสียของการจัดนิทรรศการ
1. มีเวลาจัดเตรียมไม่เพียงพอ
2. ผู้ออกแบบไม่มีความรู้ ไม่ทราบจุดมุ่งหมายของการแสดง
3. ผู้ออกแบบ (DESIGNER) สถาปนิก (ARCHITECT) และผู้ออกแบบโฆษณา(GRAPHIC ARTIST) และเจ้าของร้าน ไม่ประสาน งานกัน คือผู้ออกแบบไม่ทราบวัตถุประสงค์ของเจ้าของ เจ้าของไม่ทราบแนวความคิดของผู้ออกแบบ จึงทำให้เสียผล ประโยชน์ อย่างมาก
4. ความบกพร่องทางเทคนิค เช่น คำอธิบาย ไม่ชัดเจน แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือใช้ไฟเน้นผิดตำแหน่งที่ควรจะเน้น เป็นต้น